
รู้หรือไม่ถั่วลิสงมีสารพิษที่ชื่อว่า “อะฟลาท็อกซิน”
ปัจจุบันอันตรายจากการกินอาหารของคนเรามีมากขึ้นกว่าเดิม แม้แต่วัตถุดิบจากธรรมชาติก็ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป หากการเก็บรักษาวัตถุดิบเหล่านี้ไม่เหมาะสม อาจจะก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ สารพิษที่ว่า คือ “อะฟลาท็อกซิน”
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
มาทำความรู้จักกับ “อะฟลาท็อกซิน” กัน
อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 ถือว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์โดยตรง เพราะมีพิษรุนแรง และถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งโดย International Association Research Cancer (IARC) เป็นสารพิษจากเชื้อราที่เกิดในสภาวะที่มีความชื้นสูง ซึ่งประเทศไทยมีสภาวะที่เหมาะสมแก่การเกิดสารพิษอะฟลาท็อกซินพอดี สิ่งที่น่ากลัวก็คือ สารพิษนี้สามารถทนความร้อนได้ถึง 268 องศาเซลเซียส ดังนั้นการหุงต้มธรรมดาจึงไม่สามารถทำลายสารพิษได้ การได้รับในปริมาณมากหรือน้อย และสะสมไปเรื่อย ๆ จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ และทุกครั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจ ก็ยังคงพบถั่วลิสงที่มีอะฟลาท็อกซินเกินกำหนดอยู่มาก
เมื่อร่างกายได้รับสารอะฟลาท็อกซินจะทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองบวม นอกจากนี้สารอะฟลาท็อกซินชนิด B1 ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติ และมีความเป็นพิษสูงสุดจากทั้งหมด 4 ชนิด (B1, B2, G1, G2) พระราชบัญญัติกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2522 จึงกำหนดให้มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร
หากเพื่อน ๆ ต้องการทานถั่วลิสง สามารถป้องกันอะฟลาท็อกซินในเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ
-
เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด ไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
-
ไม่เก็บอาหารแห้งไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
-
นำอาหารแห้งไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลงได้